วันพุธที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2559

อิเหนา ศึกกะหมังกุหนิง

สรุป อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง
ผู้แต่ง  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ลักษณะการประพันธ์  กลอนบทละคร
สรุปเรื่อง
     เมื่ออิเหนาได้จินตะหรา ธิดาท้าวหมันหยาเป็นชายา  และไม่ยอมกลับไปอภิเษกกับบุษบา  ท้าวดาหากริ้วมากจึงประกาศว่า  กษัตริย์ผู้ใดมาขอบุษบาก็จะยกให้   ระตูจรกา  อนุชาของระตูเจ้าเมืองล่าสำ   ได้เห็นรูปบุษบาได้มาสู่ขอบุษบาเป็นคู่ตุนาหงัน   ในเวลาใกล้ๆกันนั้น  วิหยาสะกำเจ้าชายหนุ่มรูปงาม โอรสของท้าวกะหมังกุหนิงได้ส่งทูตไปขอบุษบา   แต่ถูกท้าวดาหาปฏิเสธ  จึงเรียกน้องชายที่เป็นเจ้าเมืองประหมัน  และปะหยังมาช่วยรบ  แม้น้องชายทั้งสองของท้าวกะหมังกุหนิงจะทรงทัดทานมิให้ทำศึกแต่ก็มิอาจทำให้ทรงเปลี่ยนพระทัยได้เลย
       ฝ่ายท้าวดาหา  ได้ส่งข่าวศึกไปยังเมืองกุเรปัน  ซึ่งทรงใช้ให้กะหรัดตะปาตี   ยกทัพมาพร้อมกับทรงมีราชสาส์นไปถึงอิเหนากับท้าวหมันหยา  อิเหนาจึงยกทัพมาพร้อมกับระเด่นดาหยนคุมกองทัพหมันหยามาด้วย   ด้านเมืองกาหลังได้ส่งตำมะหงงและดะหมังยกทัพมาช่วย   เมืองสิงหัดส่าหรีได้ให้สุหรานากงยกทัพมาช่วย
       ในการรบวิหยาสะกำเข้ารบกับสังคามาระตาและถูกสังคามาระตาแทงด้วยทวนจนถึงแก่ชีวิต  ท้าวกะหมังกุหนิงเข้ารบกับอิเหนาและถูกอิเหนาใช้กริชแทงถึงแก่ชีวิตเช่นกัน  ฝ่ายระตูทั้งสองคือ   ท้าวประหมันและท้าวปะหยังเห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงขอยอมแพ้แก่อิเหนาในที่สุด
 ประโยชน์และคุณค่าที่ได้จากเรื่อง
 1.ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 2.ให้ความรู้เกี่ยวกับบทละครและความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีไทย
 3.ให้คติข้อคิดต่างๆ เช่น  เรื่องสงครามจะนำมาสู่ความหายนะ   และในเรื่องการแสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก